วัดดอนชัย (วัดสบสาย )
ที่ตั้ง เลขที่ 44 หมู่ที่ 4 ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
ประวัติความเป็นมา
วัดดอนชัยตั้งอยู่เลขที่ ๔๔ หมู่ที่ ๔ ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๑๕ ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือจดที่ดินเอกชน ทิศใต้จดซอยแสงเทียน ทิศตะวันออกจดที่ดินเอกชน ทิศตะวันตกจดที่ดินเอกชน อาคารเสนาสนะประกอบด้วยวิหาร กุฏิ และหอกลอง ปูชนียวัตถุ
มีพระพุทธรูป ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ชาวบ้านสบสายซึ่งนับถือศาสนาพุทธ
เมื่อมีกิจกรรมทางศาสนาและประเพณีทางศาสนาต้องเดินทางด้วยความยากลำบาก
ข้ามแม่น้ำน่านไปประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดตาลชุม และวัดบ้านปง เป็นเวลานาน จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๔ เจ้าปู่มงคล ภิกษุเจ้าวัดตาลชุม (เป็นน้องของพ่ออุ้ยน้อยยศ คำเรือง) พร้อมกับนายแก้ว คำเรือง ผู้ใหญ่บ้านสบสายได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างวัดขึ้น
ใน วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ บริเวณทิศเหนือหาดทรายขาว สร้างเสนาสนะด้วยไม้ทั้งหมด ตั้งชื่อว่า วัดดอนชัย ตามชื่อของหมู่บ้าน ต่อมาได้สร้างเสนาสนะจนครบสมบูรณ์ถาวร จึงได้ขออนุญาตตั้งวัดและจดทะเบียนกับกรมศาสนา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ต่อมาเนื่องจากวัดถูกน้ำท่วมบ่อยจึงย้ายวัดไปตั้ง ณ ที่ใหม่ทางทิศตะวันตก (วัดดอนชัยปัจจุบัน) ห่างจากที่ตั้งวัดเดิม ๑๐๐ เมตร ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ โดยเอาที่ดินวัดเดิมแลกกับที่ดินของ นายผาย ปัญญา เพื่อสร้างวัดใหม่สร้างเสนาสนะด้วยอิฐถือปูน โดยมี หลวงลุงประจักร์ สุธัมโม วัดจักรวรรณ
หรือ วัดป่าเมี่ยง เป็นช่างผู้สร้าง (สล่าเก้า) การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสปกครอง คือ พระมงกน (เจ้าปู่มงคล) พระกัณฑเนตร พระรัตน์ พระแสวง พระผาย บุญฺสโร พระจื่น พระอินทอง พระอินสม พระจำรัส สารโท
พระวิรัตน์ อรุโณ พระสว่าง โชติมนฺโต พระศิลป์ ภทฺทโก พระอดุลย์ อภิญฺโญ พระสกล ฐานฺฐตฺโต พระนันทะ อนนฺโท พระณรงค์เดช ฐานกโร (รักษาการแทนเจ้าอาวาส)
ผู้บันทึกเรียบเรียง นายวานิต คำเรือง วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
แหล่งข้อมูลอ้างอิง ผู้สูงอายุบ้านสบสาย จารึกฐานพระพุทธรูปวัดดอนชัย บันทึกวัดดอนชัย หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรเล่ม ๘ กองพุทธศาสนา กรมศาสนา
และจากการสอบถามบันทึกความทรงจำ ของแม่อุ้ยคำ ต๊ะวิชัย พ่ออุ้ยถา คำต่ง
พ่อคำตัน คำเรือง แม่แก้ว คำหว่าง
ป่าชุมชน ( ดงเจ้าบ้าน )
เป็นป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์เพื่อให้เป็นมรดกของหมู่บ้าน เป็นที่ตั้งศาลเจ้าหลวงของหมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ 25-30 ไร่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด และพันธุ์ไม้ที่หายาก บรรยากาศร่มรื่น เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของชุมชน สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ฝายน้ำสาย
ฝายน้ำสายเป็นที่กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร โดยส่งผ่านลำเหมือง และเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาของหมู่บ้านสบสาย มีบริเวณที่กว้างขวางพอสมควร มีน้ำตลอดปี ใสสะอาดร่มรื่น เหมาะเป็นสถานที่พักผ่อนชมธรรมชาติ
ประวัติ เรือเทพเทียนทอง***เรือเจ้าหลวงพญาแก้ว บ้านสบสาย
ประวัติเรือเทพเทียนทอง บ้านสบสาย
เรือเทพเทียนทองเดิมเป็นเรือของ วัดทุ่งธาตุ ตำบลทุ่งธาตุ อำเภอโพนพิสัย
จังหวัดหนองคายเป็นเรือเก่าแก่ มีลวดลายสวยงาม ขุดจากไม้ตะเคียนทอง ยาว 11 วา 3 ศอก พ.ศ. 2535 ได้ขายให้กับ ชาวบ้านหนองบัวทอง ตำบลหนองบัวดง กิ่งอำเภอศิลาลาด
จังหวัดศรีสะเกศ ในราคา 78,000 พ.ศ. 2548 ชาวบ้านสบสาย หมู่ที่ 4 ตำบลตาลชุม
อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ได้ขอซื้อจากบ้านหนองบัวทอง จังหวัดศรีสะเกศ
ในราคา 163,000 บาท โดยการนำของผู้ใหญ่นัก ปะมะ และคณะกรรมการหมู่บ้านสบสาย นำมาปรับปรุงใหม่โดย ช่างโรจน์ ทิพย์ไชโย ยาว 12 วา 3 ศอก 9 นิ้ว เป็นประเภทเรือกลาง แล้วใช้ชื่อว่า เทพเทียนทอง
ประวัติเรือเจ้าหลวงพญาแก้ว บ้านสบสาย
เรือเทพพญาแก้ว ได้ขุดเมื่อวันที่ 7 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 ขุดจากไม้มะม่วงทั้งต้น
ยาว 12 วา 3 ศอก 9 นิ้ว ประเภทเรือกลาง เนื่องจากได้นำไม้มะม่วงจากดงเจ้าหลวง
พญาแก้วเจ้าหลวงของบ้านสบสาย มาขุดเรือ จึงตั้งชื่อว่า เรือเจ้าหลวงพญาแก้ว เพื่อเป็นสิริมงคลและแสดงความเคารพต่อเจ้าหลวงซึ่งเป็นบรรพบุรุษผู้นำในอดีต ชาวบ้านสบสายได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์ในการขุดเรือลำนี้ ขุดโดยช่างโรจน์ ทิพย์ไชยโย โดยการนำของ
ท่านผู้ใหญ่นัก ปะมะ ผู้ใหญ่บ้านสบสาย พร้อมคณะกรรมการหมู่บ้านสบสาย และเกิดจากการร่วมไม้ร่วมมือของ ผู้สูงอายุ พ่อบ้าน แม่บ้าน และเยาวชนของบ้านสบสายทุกคน จึงทำให้เรือลำที่สองของบ้านสบสายเกิดขึ้นและสำเร็จด้วยดี
สถานีอนามัยบ้านสบสาย
ประวัติความเป็นมา
สถานีอนามัยบ้านสบสายได้รับงบประมาณดำเนินการก่อสร้าง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2543
ณ บ้านสบสาย หมู่ที่ 4 ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งได้รับการบริจาคที่ดินจาก นายมาลัย หน่อท้าว อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านสบสาย จำนวน 2 ไร่ 2 งาน โดยแยกเขตบริการออกจาก สถานีอนามัยตำบลตาลชุม มีเขตรับผิดชอบจำนวน 3 หมูบ้าน
คือ บ้านสบสาย หมู่ที่ 4 บ้านน้ำป้าก หมู่ที่ 7 บ้านห้วยธนู หมู่ที่ 9 เริ่มเปิดบริการตั้งแต่ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา
ประวัติโรงเรียนบ้านสบสาย
โรงเรียนบ้านสบสาย ตั้งอยู่ในเขตบ้านสบสาย หมู่ที่ 4 ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา
จังหวัดน่าน โดยการริเริ่มของนายผาย ปัญญา ผู้ใหญ่บ้านสบสายและนายวัชรินทร์ นันท์ชัย
ประธานกลุ่มครู ตำบลตาลชุม ได้ขออนุญาตจากทางราชการตั้งเป็นโรงเรียนชั่วคราว เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2503 โดยเป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนบ้านตาลชุม ทางราชการได้ส่งนายเหรียญ สุปินะ ครูโรงเรียนบ้านคัวะ มาทำการสอนเป็นเวลา 1 ปี ต่อมาในเดือน
กรกฎาคม พ.ศ.2504 จึงได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ตั้งเป็นโรงเรียนเอกเทศขึ้น ทางราชการ ได้แต่งตั้ง นายศรีจันทร์ มะลิ ครูโรงเรียนบ้านสบหนองมารักษาการแทนครูใหญ่ มีนักเรียนในปีการศึกษานั้น 31 คน ในปี พ.ศ. 2505 อาคารเรียนชั่วคราวหลังเก่าได้ชำรุด ราษฎรในหมู่บ้านสบสายจึงพร้อมใจกันบริจาคทรัพย์ส่วนตัวปลูกสร้างอาคารเรียนชนิดถาวรหลังคามุงสังกะสี ฝาไม้กระดาน พื้นเทคอนกรีตแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2507
ในปี พ.ศ.2511 ทางราชการได้จัดงบประมาณซ่อมแซมต่อเติมอาคารเรียนอีกเป็นเงินจำนวน 6,000 บาท โดยต่อเติมเพดานซ่อมแซมหลังคา
ในปี พ.ศ. 2517 ทางราชการได้จัดงบประมาณสร้างบ้านพักครูให้อีก 1 หลัง แบบ นน. 08 ราคา 25,000 บาท มีนายสนิท สิทธิ เป็นครูใหญ่
ในปี พ.ศ.2519 ทางราชการได้จัดงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนถาวร แบบ ป.1 ข ขนาด 3 ห้องเรียน 1 หลังเป็นเงิน 250,000 บาทแล้วเสร็จปี พ.ศ.2521
ในปี พ.ศ.2521 โรงเรียนได้รับอนุญาตให้เปิดขยายชั้นเรียนจากการเปิดสอน ระดับ ป.1 ป.4 โดยได้รับอนุญาตให้เปิดขยายชั้นเรียน ป.5 และ ป.6 ในปีการศึกษานี้ทางราชการได้จัดงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มอีก 1 หลัง แบบ ป.1 ฉ ไม้ใต้ถุนสูง ขนาด 2 ห้องเรียน เป็นเงิน 180,000 บาท
ในปี พ.ศ.2523 ได้รับงบประมาณต่อเติมอาคารเรียนแบบ ป.1 ฉ ชั้นล่างอีก 2 ห้องเรียน เป็นเงิน 80,000 บาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2523 รวมเป็นเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 260,000 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2523นี้ โรงเรียนได้โอนสังกัดจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ มีนักเรียนทั้งสิ้น 93 คน ครู 9 คน
มีนายประพัฒน์ ชื่นวรารักษ์เป็นครูใหญ่ ในปี พ.ศ.2528 นายประพัฒน์ ชื่นวรารักษ์ ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ทางราชการได้แต่งตั้งให้นายอินผ่อง สุนทร มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และโรงเรียนได้รับอนุญาตให้เปิดสอนชั้นเด็กเล็กและได้รับงบประมาณสร้างอาคารอเนกประสงค์ แบบ สปช.202/26 1 หลัง งบประมาณ 180,000 บาทได้รับจัดสรรอัตราจ้างประจำตำแหน่งภารโรง 1 อัตรา ในปีการศึกษา 2529 สปจ.น่าน ได้มีคำสั่งให้
นายอินผ่อง สุนทรย้ายไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนศรีภูมิวิทยา และแต่งตั้งให้
นายคำนึง กุลสุทธิ์ มาดำรงตำแหน่งแทน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2530
ในปี พ.ศ.2530ได้รับความอนุเคราะห์จาก นายแก้ว มังคละผู้ใหญ่บ้านสบสายบริจาคทรัพย์สร้างซุ้มพระพุทธรูป 3,500 บาท ได้รับอนุเคราะห์ ค่าจ้างครูสอนเด็กเล็กจากหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 27 อีก 1 คน ได้จ้างน.ส. ทิพย์วัลย์ อติไชย เป็นครูสอน ปีการศึกษา 2531 คณะครู ภารโรง กรรมการสถานศึกษา และราษฎรบ้านสบสายได้ร่วมกันบริจาคเงิน 15,000 บาท สมทบก่อสร้างห้องสมุดเป็นเอกเทศแล้วเสร็จปี 2532 และปีนี้ ร.พ.ช.น่านได้สร้างถังเก็บน้ำฝนและทางราชการจัดสรรงบสร้างห้องน้ำ 2 ห้อง และถังเก็นน้ำฝนเพิ่มอีกแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2533
โบราณวัตถุ
พระพุทธรูปไม้แกะสลัก เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่อายุหลายร้อยปีสร้างประมาณช่วง พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นศิลปะที่งดงาม ศิลปะล้านนา ฝีมือช่างเมืองน่าน แกะจากไม้มงคลเนื้อแข็ง จากการจารึกเป็นอักษรธรรมล้านนาที่ฐานพระพุทธรูปได้แปลเป็นภาษาไทย ว่า พระพุทธรูปสร้างขึ้น ใน ปี พ.ศ.2313 ,พ.ศ.2320 ,พ.ศ.2418 มีจนถึง
พ.ศ.2474 และ พ.ศ.2475 เป็นพระคู่บ้านสบสายตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง
ผู้ใหญ่บ้านสบสาย
คณะครู อาจารย์ โรงเรียนบ้านสบสาย
ผู้สูงอายุบ้านสบสาย
บันทึกทำเนียบพระภิกษุสามเณรวัดดอนชัยบ้านสบสาย
จารึกฐานพระพุทธรูป วัดดอนชัยบ้านสบสาย
ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรเล่ม 8 กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายวานิต คำเรือง ประธานชมรมวัฒนธรรมบ้านสบสาย
ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวัง จังหวัดน่าน